Good Choice or Bad Choice บอกต่อเคล็ดลับสอนลูกให้รู้จักคิด

Good Choice หรือ Bad Choice ทางเลือกไหนที่ลูกอยากเลือก?

หนึ่งในประโยคคำถาม ที่มี้มักถามลูกกลับ เวลาต้องการให้ลูกลองคิด หรือ ให้โอกาสลูกเลือกใหม่ เวลาลูกอยากทำในสิ่งที่ไม่ควรทำค่ะ

เผยเคล็ดลับการสอนลูกให้คิดเป็น ทำอย่างไรมีวิธี ตามอ่านกันเลยยยยนะค้า 🙂

คุณพ่อคุณแม่ สามารถปูพื้นฐานได้ตั้งแต่ลูกยังเล็กเลยนะคะ

.

ลูกวัยสามขวบของมี้ กำลังอยู่ในวัยช่างคิด ช่างสงสัย อยากรู้ อยากลอง และมีพฤติกรรมที่ท้าทายหลากหลายค่ะ

วิธีที่มี้เชื่อ และพยายามสอนลูกคือ เราจะเลี่ยงการบังคับ แต่มี้จะสอนให้ลูกคิด มีสิทธิเลือก และลองทำ

(พฤติกรรมที่อยากลองแล้วอาจเกิดอันตราย มี้จะยกสอนลูกเป็น เรื่องของอันตราย จะห้ามไม่ให้เล่นเลย เช่น เล่นของมีคม)

แต่ไม่ใช่ว่า จะไม่เคยใช้วิธีบังคับเลยนะคะ ก็ใช้บ้างค่ะ แต่พยายามใช้วิธีนี้ก่อน และก็ต้องพิจารณาเป็นเรื่องๆอีกทีตามสถานการณ์ค่ะ

.

มี้จะเล่าแบ่งปันวิธีที่มี้ใช้นะคะ

สรุปสั้นๆ ให้ฟังก่อนว่าประมาณนี้ คือ

  1. สอนลูก อะไรคือ good choice or bad choice
  2. เราเองต้องทำให้ดูเป็นตัวอย่าง
  3. หมั่นฝึกฝน ปรับพฤติกรรมไปเรื่อยๆสม่ำเสมอ
  4. ชื่นชมและให้กำลังใจนะคะเวลาลูกทำดี

.

มี้จะอธิบายให้ฟังกันต่อนะคะ

เริ่มแรก คือ สอนก่อน

อะไรคือ สิ่งที่เรียกว่าทำแล้วดี  (Good Choice)

อะไรคือ สิ่งที่เรียกว่าทำแล้วไม่ดี (Bad Choice)

 

เอาจริงๆ เด็กก็เหมือนผ้าขาว บางอย่างลูกไม่รู้ค่ะ ว่าอันไหนดี อันไหนไม่ดี อันควรทำ ไม่ควรทำ

เพราะฉะนั้นเรามาเริ่มสอนจากเหตุและผลก่อนนะคะ

ขอยกตัวอย่างที่เข้าใจง่าย เช่น เรื่องการทานของมีประโยชน์ และ การทานขนมต่างๆ

เราเริ่มจากสอนลูก และ เล่าให้ลูกเข้าใจว่า

การทานผลไม้ คือ good choice นะลูก เพราะ ผลไม้มีวิตามิน ดีต่อร่างกาย ทานแล้วขับถ่ายง่าย ไม่ปวดท้องเวลาเข้าห้องนำ้

การทานขนม หรือ  Junk Food  คือ  bad choice เพราะ ไม่มีประโยชน์ต่อลูกเลย แถม ลูกอมทานแล้วฟันผุอีกด้วยนะจ๊ะ ก็ว่ากันไป สอนกันไป

 

สิ่งเหล่านี้ เราบอกเราสอนวนไปค่ะ เมื่อมีเหตุการณ์ลูกจะได้นำพื้นฐานเหล่านี้ มาต่อยอดทางความคิด เช่นว่า

กำลังจะทานข้าวแล้ว ลูกเลือกจะทานขนม ไม่ยอมทานข้าว

เราถามลูกก่อน อะไรคือ Good choice   อะไร คือ Bad Choice

แล้ว บอกย้ำไปอีกที….แล้วเรารอลูกค่ะ

บางทีลูกรู้อยู่แก่ใจ แต่ลูกจะไม่ยอมตอบ เพราะไม่อยากทานข้าว อยากทานขนม

เราก็รอค่ะ ไม่ต้องไปบีบบังคับ (แต่ก็ไม่ให้ทานขนมนะคะ555)

เด็กทุกคน รู้ว่าว่าอะไรควรหรือไม่ควร ลึกๆทุกคน อยากเป็นเด็กดีทั้งนั้นค่ะ

สิ่งที่เรากำลังทำ คือ เราให้โอกาสลูกในการเลือก การฝึกยับยั้งชั่งใจ การอดทดรอคอย

.

(ถ้าลูกไม่ตัดสินใจ  เราบอกลูกไปเลยว่าควรทำอย่างไร ใจความสำคัญ คือ อยากให้เค้าคิดให้เป็นค่ะ)

มี้เชื่อว่า สีหน้าลูกจะบอกเองว่า เค้ารู้สึกอย่างไร ซักพักก็พูดเลยค่ะว่า

แม่รู้ว่า หนูรู้ว่าควรทานข้าวก่อน ถึงจะได้ทานขนม เพราะขนมจะทำให้หนูอิ่มและทานข้าวไม่ลง

( ถ้าลูกคิดได้ เค้าจะยอมทำ และไม่ต่อต้าน….ถึงแม้ว่าจะไม่อยากทำก็ตาม เค้าก็ทำค่ะ เพราะเค้ารู้ว่าอะไรควรทำ)

กรณีนี้ควรชื่นชม เพราะลูกกำลังตัดสินใจทำในสิ่งที่ควรทำ และเรียนรู้ที่จะฝืนใจตัวเอง 🙂

.

หากลูกยังไม่ฟัง ยังงอแง มี้จะใช้วิธี  “น้ำเสียง”  ที่เข้มข้นขึ้น

 

พูดไปเลยเข้มๆ ชัดๆ ถ้าไม่ทานข้าว แม่จะไม่อนุญาตให้ทานขนม ง่ายๆสั้นๆ แต่เอาจริง

เอาสิ ให้รู้กันไปเลยว่า

แม่ไม่ให้จ้ะ มาดื้อกับแม่ แม่ก็ไม่ให้….แค่นั้นเลย

จะร้องไห้ตีอกชกหัว แม่ก็ไม่ให้ค่ะ ครั้งแรกๆ กัดฟันค่ะ ทำให้จบกระบวนการ

แล้วลูกจะจำค่ะ ว่างอแงยังไงก็ไม่สำเร็จ

.

หรือ ยกอีกตัวอย่างนึง ที่เกิดขึ้นประจำ

กรณีแย่งของเล่นกับเพื่อน

เริ่มเรื่อง คือ เหมือนเดิมค่ะ พูดเลยว่า  การแบ่งปันเป็นเรื่องที่ดี การไม่แบ่งปัน เป็นเรื่องที่ไม่น่ารักเอาซะเลย

พยายามให้เค้านึกถึงที่เราเคยสอนไว้

.

ถามลูกก่อนค่ะ เกิดอะไรขึ้นคะ?  อะไรคือ good choice bad choice ของเหตุการณ์นี้?

มี้จะเลือกพาลูกออกมาสอน เพราะไม่มีใครชอบการตำหนิต่อหน้าผู้อื่นค่ะ แม้กระทั่งเด็กเล็กๆ

.

ลองให้ลูกหยุดและคิด ด้วยการตั้งคำถามว่า  ตอนนี้รู้สึกและคิดอย่างไร รู้มั้ยว่าเกิดอะไรขึ้น และย้ำสอนว่า การไม่แบ่งปันเป็นสิ่งที่ไม่น่ารัก

(เน้น “ว่าที่การกระทำ” อย่าไปว่าที่ตัวลูกเด็กขาด เช่น ตำหนิว่าลูกนิสัยไม่ดีเลย ไม่แบ่งเพื่อน

การต่อว่าแบบนี้นอกจากจะทำให้เด็กรู้สึกแย่ ยังฝังใจว่าตัวเองเป็นคนไม่ดีไปก็ได้นะคะ ตำหนิแบบนี้ไม่เกิดผลดี อาจทำให้ลูกรู้สึกว่า เออ เราเป็นเด็กไม่ดี งั้นก็ทำตัวไม่ดีไปเลยดีกว่า)

แต่ให้พูดตำหนิว่า  “การไม่แบ่งปันเป็นสิ่งที่ไม่น่ารัก” การไม่มีน้ำใจทำให้ไม่มีเพื่อนอยากเล่นด้วย ก็ว่ากันไป

มันเหมือนเป็นการให้โอกาสลูกเลือกใหม่ ว่าถ้าลูกรู้แล้วว่า ทำแบบนี้มันไม่ดี ลูกจะเลือกทำแบบใด…

.

สุดท้าย ถ้าความท้าทายยังไม่จบ ลูกยังเลือกทำในสิ่งที่ไม่ควร

เราอาจให้ลูกลองทำก็ได้ค่ะ แล้วเราคอยประกบสอนเค้า เค้าจะได้เรียนรู้กับบทเรียนในชีวิตจริง และ สุดท้าย เราต้องสรุปสอนเค้าทุกครั้ง เพื่อแนะทางให้ลูก

.

ทุกอย่างในชีวิต คือ การเรียนรู้

หัวใจสำคัญ คือ ลูกได้เรียนรู้อะไรบ้าง จากการกระทำนั้นๆ

ไม่ว่าสิ่งนั้นจะผิด หรือ จะถูก มันคือบทเรียนสอนเรา

ขอให้ลูกได้เกิดการเรียนรู้จากสิ่งที่ลูกทำ

ลูกต้องรู้ว่า เค้าจะพัฒนาตัวเองและทำตัวให้ดีขึ้นได้อย่างไร

 

ยังไง มี้ขอเป็นกำลังใจให้ทุกครอบครัวนะคะ

.

สู้ต่อไปพวกเรา^^

ขอกลับไปบอกรักเจ้าเล็กที่บ้านก่อนน้า

แล้วคุยใหม่ค่า…

 

มี้แพร

 

ปล. วิธีมี้ อาจจะไม่ได้ใช้ได้กับทุกคน มี้แนะนำให้ทุกบ้านลองนำไอเดียไปปรับใช้ให้เหมาะกับตัวเองนะคะ ถือว่าเป็นแนวทางหนึ่งให้คุณพ่อคุณแม่แล้วกันนะคะ^^

 

.

 

 

 

 

 

Rate This Article:
No comments

leave a comment